วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มาดูสถานที่แปลกๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่ามีในโลกกัน

1. เดอะเวฟ (The Wave) ที่รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา

เดอะเวฟ คือ ภูเขาหินทรายที่ฟอร์มตัวในลักษณะคล้ายคลื่นลาดชัน เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 190 ล้านปีก่อนหรือในยุคจูราสสิก เนื่องจากพื้นที่แถบนี้มีความเปราะบางมาก ทางการจึงจำกัดให้เข้าชมได้เพียงวันละไม่เกิน 20 คน และต้องเดินเท้าเข้าไปเกือบ 5 ก.ม. จึงจะถึงดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้


2. Tessellated Pavement บนเกาะแทสเมเนีย (รัฐหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย)

นี่คือภาพลานหินตะกอนบริเวณชายฝั่งที่ Eaglehawk Neck บนเกาะแทสมาเนีย ซึ่งถ้าหากมองเผินๆ จะแลดูคล้ายมีใครนำแผ่นกระเบื้องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่มาวางเรียงรายริมทะเล (บริเวณขอบสี่เหลี่ยมที่เราเห็นเป็นแนวเส้นตรงนั้น เกิดจากแรงตึงเครียดของผิวโลก ผนวกกับการกัดเซาะอย่างต่อเนื่องของคลื่นและแรงเสียดสีของทราย)


3. หินรูปทรงประหลาดในทะเลทรายขาว (White Desert) ประเทศอียิปต์


ทะเลทรายแห่งนี้ตั้งอยู่ใน Farafra Oasis มีลักษณะเป็นสีขาวและครีม ประกอบด้วยกลุ่มหินชอล์ครูปทรงประหลาดขนาดใหญ่มากมาย อันเป็นผลงานของพายุทรายที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว


4. บ่อน้ำพุร้อนสีเลือด (Blood Pond Hot Spring) ที่เบปปุ ประเทศญี่ปุ่น

น้ำพุร้อนสีเลือด (Chinoike Jigoku) เป็นหนึ่งในบ่อน้ำพุร้อนชื่อดังของเมืองเบปปุ ในจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชู สาเหตุที่น้ำพุมีสีเลือดเนื่องจากมีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณมากนั่นเอง


5. Giant's Causeway ที่ไอร์แลนด์เหนือ


Giant's Causeway เป็นชายฝั่งที่เกิดจากการเย็นตัวของหินภูเขาไฟเมื่อประมาณ 50,000 ถึง 60,000 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดหินรูปหกเหลี่ยมและหินแท่งสี่เหลี่ยมกว่า 40,000 แท่ง องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน Giant´s Causeway เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529)


6. ทะเลเกลือ (salt flats) ที่ Salar de Uyuni ประเทศโบลิเวีย


จริงๆ แล้วที่ราบเกลือหรือทะเลเกลือลักษณะนี้มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่ทะเลเกลือที่ Salar de Uyuni ของประเทศโบลิเวียนั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากถึง 10,582 ตารางกิโลเมตร


7. ป่าหิน (Stone Forest) เมืองคุนหมิง มลฑลยูนาน ประเทศจีน

อุทยานป่าหิน (Shilin National Park) ในเมืองคุนหมิง จัดเป็นป่าหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่มากถึง 350 ตารางกิโลเมตร แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 12 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เดิมทีหินปูนเหล่านี้อยู่ใต้ผิวโลก แต่ภายหลังได้ถูกดันขึ้นมาในลักษณะเดียวกับหินงอก เชื่อกันว่าป่าหินแห่งนี้มีอายุราว 270 ล้านปีเลยทีเดียว


8. ธารน้ำแข็ง Taylor ใน McMurdo Dry Valleys ที่แอนตาร์คติกา (ขั้วโลกใต้)

ธารน้ำแข็งอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่โดดเด่นเป็นสีแดงส้ม ตัดกับน้ำแข็งส่วนอื่นๆ ซึ่งมีสีขาวโพลน เนื่องจากพื้นที่แถบนั้นเต็มไปด้วยออกไซด์ของเหล็ก (iron oxide) ซึ่งก็คือ "สนิม" นั่นเอง ด้วยเหตุนี้บริเวณดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามตามลักษณะทางกายภาพว่า "น้ำตกเลือด" (Blood Falls)


9. ทะเลสาบสปอท เลค (Spotted Lake) – ประเทศแคนาดา

“สปอท เลค” ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่มีแร่ธาตุชนิดต่างๆ อาทิ แมกนีเซียม ซัลเฟต, แคลเซียม และโซเดียม ซัลเฟต ในปริมาณเข้มข้นมากที่สุดในโลก แต่น่าเสียดายที่ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ในที่ดินของเอกชน นักท่องเที่ยวจึงทำได้แค่มองจากราวรั้วกั้นริมถนนเท่านั้น (ส่วนที่เป็นจุดๆ คือน้ำ นอกนั้นเป็นส่วนของแร่ธาตุนานาชนิด ที่สามารถลงไปเดินสำรวจได้)


10. ทะเลทรายแบล็ค ร็อค (Black Rock Desert) ที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา

ทะเลทรายแบล็คร็อค คือ ก้นทะเลสาบที่แห้งสนิท ครั้งหนึ่งดินแดนแถบนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อว่า "Lahontan" ซึ่งปรากฏอยู่ในสมัย 18,000-7,000 พันปีก่อนคริสตกาล ในช่วงที่ทะเลสาบโบราณแห่งนี้มีระดับน้ำสูงสุด (เมื่อประมาณ 12,700 ปีก่อน) ทะเลทรายแบล็คร็อคเคยอยู่ใต้น้ำที่มีความลึกถึง 150 เมตรเลยทีเดียว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น